Doctor At Home: หลอดเลือดอัณฑะขอด (Varicocele) หลอดเลือดอัณฑะขอด หมายถึง ภาวะกลุ่มหลอดเลือดดำ (ที่มีชื่อว่า anterior spermatic plexus) ที่บริเวณถุงอัณฑะเกิดการพองตัวหรือขอดซึ่งเป็นผลจากลิ้นปิดเปิดในหลอดเลือดดำบกพร่องหรือหย่อนสมรรถภาพทำให้เลือดไหลย้อนกลับ
พบบ่อยในเด็กวัยรุ่น (ประมาณร้อยละ 16 ของเด็กอายุ 10-19 ปี) และพบว่าผู้ชายที่เป็นหมัน (มีบุตรยาก) จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายที่ไม่ได้เป็นหมัน (ผู้ชายที่เป็นหมันอาจพบโรคนี้ถึงร้อยละ 40)
ประมาณร้อยละ 85 ของผู้ป่วยจะเป็นที่ถุงอัณฑะข้างซ้าย เนื่องจากลักษณะทางกายวิภาคของระบบหลอดเลือดดำของอัณฑะข้างซ้ายนี้มีลักษณะแตกต่างจากข้างขวาและมีปัจจัยเอื้อต่อการเกิดหลอดเลือดขอดมากกว่าข้างขวา*
หลอดเลือดขอดที่ถุงอัณฑะข้างซ้าย มักไม่มีสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่ถ้าเป็นข้างขวา อาจมีสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เนื้องอกในช่องท้อง
*เนื่องจากหลอดเลือดดำของอัณฑะซ้ายเชื่อมต่อกับหลอดเลือดดำไต (renal vein) โดยเป็นมุมฉาก ทำให้การไหลเวียนเลือดในบริเวณนั้นสะดวกน้อยกว่าหลอดเลือดดำของอัณฑะขวาที่เชื่อมต่อกับท่อเลือดดำ (inferior vena cava) โดยตรง
สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุของการเกิดโรคนี้
อาการ
ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นถุงอัณฑะโต คลำดูมีลักษณะหยุ่น ๆ นุ่ม ๆ และมีสีคล้ำแบบหลอดเลือดดำ เมื่อนอนลงอาจยุบลงได้ อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นไส้เลื่อน
ส่วนมากจะไม่มีอาการแสดง บางรายอาจรู้สึกปวดหน่วง ๆ โดยเฉพาะเวลาอากาศร้อน หรือหลังออกกำลังกายหรือทำงาน มักปวดมากขึ้นตอนบ่าย ๆ ถึงค่ำ ๆ และทุเลาเมื่อนอนราบ
ส่วนใหญ่มักเป็นเพียงข้างเดียว ส่วนน้อยอาจเป็นทั้ง 2 ข้าง
ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้อัณฑะข้างที่เป็นหลอดเลือดขอดฝ่อตัว หรือเป็นหมัน เนื่องจากมีการผลิตอสุจิได้น้อยลง
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจร่างกายเป็นหลัก บางรายแพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจอัลตราซาวนด์
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
ถ้าไม่มีอาการแสดง ก็ไม่ต้องให้การรักษาแต่อย่างใด บางรายอาจหายได้เอง เมื่ออายุมากขึ้น
ถ้ามีอาการปวดหน่วง แนะนำให้ผู้ป่วยใส่กางเกงในรัด ๆ และกินยาบรรเทาปวด
ถ้ามีอาการปวดมากหรือเป็นหมัน (พบว่าหลอดเลือดอัณฑะขอดเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ผู้ชายเป็นหมันได้) หรือหลอดเลือดที่ถุงอัณฑะ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นข้างขวา) ที่อยู่ ๆ เกิดขอดขึ้นมาอย่างฉับพลันในผู้ที่อายุมาก (อาจมีสาเหตุผิดปกติในช่องท้อง เช่น ก้อนเนื้องอกของไต) ควรปรึกษาแพทย์ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะเพื่อตรวจพิเศษเพิ่มเติม (เช่น อัลตราซาวนด์) และอาจต้องทำการผ่าตัดแก้ไข บางรายอาจผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง หรือทำ percutaneous embolization
ในรายที่เป็นหมัน หลังการรักษาด้วยการผ่าตัดอาจช่วยให้มีบุตรได้
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น อัณฑะบวม มีก้อนที่อัณฑะ อัณฑะ 2 ข้างมีขนาดต่างกัน หรือผู้ชายเป็นหมัน ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นหลอดเลือดอัณฑะขอด ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
มีอาการปวดท้อง ปวดอัณฑะมาก อัณฑะเป็นก้อนแข็งหรือบวมแดง
ในรายที่แพทย์รักษาด้วยการผ่าตัด หลังผ่าตัด อัณฑะมีการอักเสบบวมแดง หรือมีเลือดออกในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
ข้อแนะนำ
ผู้ชายที่เป็นหมัน ควรปรึกษาแพทย์ อาจเกิดจากหลอดเลือดอัณฑะขอด ซึ่งหลังผ่าตัดอาจช่วยให้มีบุตรได้