สินเชื่อรีไฟแนนซ์: สินเชื่อ "บ้านแลกเงิน" หรือ "Home For Cash" คืออะไร แต่ละธนาคารคิดดอกเบี้ยกันเท่าไหร่ "บ้าน" นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยให้เราได้พักพิงแล้ว ยังเป็นแหล่งเงินกู้สำหรับผู้ที่ต้องการเงินสดมาหมุนได้ด้วยนะคะ โดยปัจจุบันสถาบันการเงินหลายแห่งได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภท "บ้านแลกเงิน" หรือ "Home For Cash" ซึ่งเป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ ที่ผู้กู้สามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้หลากหลาย ซึ่งจะมีรายละเอียดเป็นอย่างไรนั้น วันนี้ได้รวบรวมข้อมูลพร้อมอัตราดอกเบี้ยมาไว้ให้เพื่อนๆ เปรียบเทียบว่าสินเชื่อแบงก์ไหนดี สินเชื่อแบงก์ไหนดอกเบี้ยถูกกันก่อนตัดสินใจยื่นกู้ด้วยล่ะค่ะ ถ้าพร้อมแล้ว...เราไปดูกันเลย
สินเชื่อบ้านแลกเงิน คืออะไร
สินเชื่อบ้านแลกเงิน จัดเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน (Secure Loans) ซึ่งผู้กู้ต้องนำ "ที่อยู่อาศัย" ที่ปลอดภาระหนี้/ภาระจำนอง ซึ่งกินความถึง บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม ห้องชุดพักอาศัย/คอนโดฯ และอาคารพาณิชย์ (ธนาคารบางแห่งอาจรวมถึงที่ดินเปล่าด้วย) มาจำนองเป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อ
อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านแลกเงินส่วนใหญ่จะเป็นแบบลอยตัว (Floating Rate) และคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ทั้งนี้ผู้กู้ (ผู้จำนอง) ยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านแห่งนั้นได้ตามปกติไปพร้อมๆ กับการผ่อนชำระหนี้ด้วยนะคะ ส่วนวงเงินที่ให้กู้นั้นจะขึ้นอยู่กับราคาประเมินของที่อยู่อาศัยที่เรานำไปเป็นหลักประกัน ตั้งแต่ 50,000 บาท จนถึง 10,000,000 บาท และมีระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุด 30 ปี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อกำหนดของแต่ละธนาคารค่ะ ซึ่งหากต่อมาเกิดผิดนัด และไม่สามารถชำระหนี้ได้อีกต่อไป เราจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และที่อยู่อาศัยที่นำไปเป็นหลักประกันก็จะถูกยึด นำไปขายทอดตลาด แล้วนำเงินที่ได้จากการขายนั้นมาใช้หนี้พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นค่ะ
อยากขอสินเชื่อบ้านแลกเงิน... มีขั้นตอนอะไรบ้าง
1. ศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขการให้สินเชื่อ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้สินเชื่อบ้านแลกเงินของธนาคารแต่ละแห่งอาจแตกต่างกันออกไป เช่น ธนาคารบางแห่งอาจไม่รับหลักประกันที่เป็น "ที่ดิน" มีการกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำ - สูงสุดไว้ และจำกัดระยะเวลากู้สูงสุดไว้ที่ 10, 15 หรือ 30 ปี รวมทั้งอาจมีอัตราดอกเบี้ยให้เลือกหลายแบบ ซึ่งผู้กู้ควรนำปัจจัยเหล่านี้มาพิจารณาให้ดีก่อนยื่นกู้ค่ะ
2. สร้างประวัติทางการเงินที่ดี ผู้ที่มีประวัติทางการเงินที่ดี ไม่เคยผิดนัดและไม่มีหนี้ค้างชำระ และมีรายได้ที่แน่นอน สม่ำเสมอ ย่อมสร้างความมั่นใจให้แก่ธนาคารได้ว่า หากปล่อยกู้ไปแล้วจะได้รับชำระหนี้คืน แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานประจำ ไม่มีสลิปเงินเดือนก็สามารถแสดงวินัยให้ธนาคารเห็นได้ โดยเปิดบัญชีและฝากเงินกับธนาคารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างวินัยทางการเงิน ก็จะเพิ่มโอกาสการอนุมัติสินเชื่อได้มากขึ้นค่ะ
3. เตรียมเอกสารให้พร้อม นอกจากเอกสารส่วนตัว (เช่น ใบคำขอสินเชื่อ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ฯลฯ) เอกสารทางการเงิน (เช่น หนังสือรับรองเงินเดือน, เอกสารการเดินบัญชี ฯลฯ) ยังต้องเตรียมเอกสารเกี่ยวกับ "ที่อยู่อาศัย" ที่จะใช้เป็นหลักประกัน เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุดด้วยนะคะ หรือสำหรับใครที่ต้องการวงเงินกู้จำนวนมากและจะมีผู้กู้ร่วม ก็ต้องเตรียมเอกสารของผู้กู้ร่วมมาด้วยเช่นกันค่ะ ทั้งนี้ ธนาคารแต่ละแห่งอาจเรียกให้ผู้กู้แสดงเอกสารอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย ดังนั้นแนะนำว่าให้สอบถามจากทางธนาคารให้ชัดเจนก่อนยื่นกู้จะดีที่สุดนะคะ
4. ยื่นเรื่องขอสินเชื่อและประเมินราคาหลักทรัพย์ เมื่อเราได้ส่งเอกสารยื่นกู้พร้อมหลักฐานให้แก่ธนาคารแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ประเมินราคาหลักทรัพย์ติดต่อกลับมา เพื่อขอเข้ามาถ่ายรูปและสำรวจที่อยู่อาศัยของเราค่ะ ซึ่งเราจะต้องชำระเงิน "ค่าธรรมเนียมการสำรวจและประเมินราคาหลักประกัน" ขั้นต่ำประมาณ 3,000 - 4,000 บาท ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของธนาคาร จากนั้นเจ้าหน้าที่จะส่งราคาประเมินไปยังธนาคาร เพื่อให้ธนาคารพิจารณาวงเงินที่เราจะได้รับต่อไปค่ะ
5. รอผลการอนุมัติสินเชื่อ ทำสัญญาและจดจำนอง หลังจากเจ้าหน้าที่ประเมินราคาหลักทรัพย์แล้ว จะต้องรอให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมา เพื่อแจ้งว่าการขอสินเชื่อของเราได้รับอนุมัติหรือไม่ และได้รับวงเงินเป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของธนาคารแต่ละแห่งนั้นอาจใช้ระยะเวลาไม่เท่ากันค่ะ และเมื่อเราได้รับอนุมัติแล้วก็จะต้องไปเซ็นสัญญาเงินกู้ พร้อมทำเรื่องจดจำนองที่อยู่อาศัยนั้น ณ สำนักงานที่ดินซึ่งที่อยู่อาศัยนั้นตั้งอยู่ค่ะ
6. ผ่อนชำระเงินกู้จนครบ หลังจากที่เราได้วงเงินกู้นำมาใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์แล้ว ก็จะมีหน้าที่ผ่อนชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย ส่งให้แก่ธนาคารเป็นรายเดือนตามสัญญา และเมื่อชำระหนี้จนครบถ้วนทั้งหมดแล้ว ผู้กู้และเจ้าหน้าที่ธนาคารก็จะต้องเดินทางไปยังสำนักงานที่ดินอีกครั้ง เพื่อจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่อยู่อาศัยแห่งนั้นนั่นเองค่ะ